top of page

Legend - Myanmar

Legend - ภาษาไทย - ตำนาน 

 นัต หรือ เทพผู้คุ้มครองรักษาบันดาลโชค

 

  • นัต หรือ เทพเทวาอารักษ์ผู้คุ้มครอง ที่คนพม่าเคารพนับถืออันสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามา โดยเทพที่จะถูกจัดว่าเป็น “นัต” นั้น มักจะเป็นคนที่เคยสร้างความดี หรือมีวีรกรรมน่าประทับใจและมาตาที่เรียกว่า ตายโหง ทำให้วิญญาณยังมีความห่วงใยในภาระหน้าที่บ้านเมืองและผู้คนเบื้องหลัง ทำให้ไม่อาจไปเกิดได้ จึงเป็นนัตที่จะคอยคุ้มครองรักษาบ้านเมือง หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

    • ราวปี พ.ศ. 1600 ในสมัยพระเจ้าอนิรุธมหาราช (พระเจ้าอโนรธา) แห่งอาณาจักรพุกาม พระองค์รับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาในดินแดนนี้ และปฏิรูปศาสนาความเชื่อเรื่องนัตของไพร่ฟ้าประชาชนเสียใหม่ และให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามากขึ้น พระเจ้าอนิรุธจึงทรงรวบรวม นัต ที่มีผู้คนนับถือมาก รวม ๓๖ องค์ จัดให้เป็นมหาคีรีนัต เทพประจำอาณาจักร โดยให้มีนัตตัจจาเมงนัตหรือพระอินทร์เป็นราชาแห่งนัตทั้งหมดและเป็นนัตผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนาอีกด้วย

สิงห์ไถ่บาป - พม่า

 

  ในมหาวงศ์พงศาวดารที่เล่าขานว่า มีราชสีห์ตัวหนึ่งลักพาเจ้าหญิงองค์หนึ่งเข้าไปในป่า เจ้าหญิง มีพระโอรสและพระธิดาที่ยังเป็นทารก ราชสีห์ก็เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ต่อมาพระโอรสพาพระมารดาและพระขนิษฐาหนีกลับพระราชวังได้ ฝ่ายราชสีห์จึงออกจากป่ามาตามหาลูกเมียด้วยใจผูกพัน ใครขวางทางก็จะถูกกัดตาย ร้อนถึงพระโอรสต้องออกมาปราบโดยยิงลูกศรกรอกปากราชสีห์ตาย

 

    เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองนครแต่จะทำการใดก็ให้ติดขัด ปุโรหิตจึงทูลว่าเพราะทรงมีบาปกรรมที่ฆ่าราชสีห์ผู้มีพระคุณ เจ้าผู้ครองนครองค์นั้นจึงทรงปวารณาว่าจะสร้างรูปราชสีห์เป็นการบูชาล้างบาปโดยฝากไว้ที่ประตูวัดหรือมุมเจดีย์ จนกลายเป็นประเพณีนิยมในการปั้นรูปสิงห์สืบมาเรียกกันอีกอย่างว่า "สิงห์ไถ่บาป"

ประเพณีปอยส่างลอง หรือที่เรียกว่า  “งานบวชลูกแก้ว”

     

       งานประเพณีประจำของชาวไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งได้มีการจัดสืบทอดกันมายาวนาน คำว่า ปอย แปลว่า งาน ซึ่งหมายถึง งานเทศกาล งานรื่นเริง งานมงคลต่าง ๆ ส่าง แปลว่า พระ-เณร และ ลอง มาจาก คำว่า อะลอง แปลว่า กษัตริย์ ราชา เกี่ยวกับเจ้าแผ่นดิน เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบวชเป็นพระเณรของเด็กที่แต่งดาเป็นกษัตริย์หรือราชานั่นเองโดยงาน “ปอยส่างลอง” นี้ จะนิยมจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีเวลาว่างเว้น หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลเกษตรในไร่นาแล้วเสร็จ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมปิดภาคเรียนของเด็กๆ สาเหตุที่ชาวไทยใหญ่ได้จัดงานนี้ก็เพราะต้องการให้บุตรหลานได้มีโอกาสบรรพชา เป็นพระภิกษุสามเณรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าชายชาวไทยใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา ล้วนจะได้ผ่านการบวชเป็นพระหรือสามเณรจากงานประเพณีปอยส่างลองนี้กันมาแทบทั้งสิ้น    

bottom of page